#เดย์ไทม์นิวส์ออนไลน์ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ลงพื้นที่สวนรุกขชาติเชตวัน ทำพิธีขอขมาบอกกล่าวเทวดาแบบโบราณล้านนาเมืองแพร่ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่

#เดย์ไทม์นิวส์ออนไลน์

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ลงพื้นที่สวนรุกขชาติเชตวัน ทำพิธีขอขมาบอกกล่าวเทวดาแบบโบราณล้านนาเมืองแพร่ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่

(2 ส.ค.63) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานพิธีถวายเครื่องบัตรพลีบูชาเทวดาอารักษ์ประจำเมืองแพร่ เทวดาอารักษ์ประจำสวนรุกขชาติเชตวัน พิธีขอขมาบอกกล่าวเทวดาแบบโบราณล้านนาเมืองแพร่ และพิธีทำบุญอุทิศแด่ดวงวิญญาณผู้มีอุปการคุณต่อสถานที่ในบริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นางกานต์เปรมปรีด์     ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 นายธีระ เงินวิลัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ คณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธี ณ สวนรุกขชาติเชตวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เวลา 10.09 น.

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการขอขมาบอกกล่าวเทวดาแบบโบราณล้านนาเมืองแพร่ และพิธีทำบุญอุทิศแด่ดวงวิญญาณผู้มีอุปการคุณต่อสถานที่ในบริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน พิธีดังกล่าวเชื่อว่าเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่ เทวดาอารักษ์ ผีบ้านผีเรือน ตามพิธีโบราณล้านนา คือเมื่อได้ทำการรื้อถอน หรือสร้างอาคาร บ้านเรือน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่พื้นที่นั้น เพราะหากมีการรื้อถอนโดยไม่ได้บอกกล่าว อาจทำให้(ขึด) หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะอยู่ไม่เป็นสุข เกิดเจ็บป่วยไข้หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นได้ ทั้งนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้เห็นความสำคัญในพิธีนี้เป็นอย่างมาก

แนวทางการบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน เน้นการมีส่วนร่วมในการบูรณะฟื้นฟู กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมศิลปากร ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ และภาคประชาสังคม ดังนี้

  1. การบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตะวัน ต้องบูรณะฟื้นฟูอาคารให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และเป็นไปในรูปแบบของการบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมในทุกขั้นตอน
  2. 2. กรมศิลปากร จะรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษา กำกับ ดูแลเรื่องการออกแบบ ถอดแบบอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตะวัน ให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุดและนำของเดิมมาใช้ให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยข้อมูลเดิมจากหอจดหมายเหตุ และข้อมูลภาพถ่ายเดิมจากภาคประชาชน เมื่อออกแบบเสร็จแล้วจะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอความคิดเห็นร่วมกันในการเลือกแบบของอาคารที่จะทำการบูรณะฟื้นฟู ทั้งนี้เพื่อให้อาคารที่จะได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นนี้เป็นอาคารที่ได้ดีที่สุด และเป็นแบบที่ได้รับการเลือกโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนเมืองแพร่
  3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณ พร้อมทั้งสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ในการบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ โดยให้ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

อาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ ตั้งอยู่ในสวนรุกขชาติเชตวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ กระทรวงเกษตรฯ(กรมป่าไม้) ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีเนื้อที่ 48-1-87 ไร่ และอาคาร 2 หลัง เพื่อเป็นที่สำหรับใช้ในราชการกรมป่าไม้ (ที่ตั้งที่ทำการป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด) เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2505 เป็นอาคารลำดับที่ 1 (พร.103) ขนาด 900 ตร.ม. ลักษณะเป็นเรือนทรงปั้นหยาไม้ 2 ชั้น เสาไม้สัก  ฝาไม้สัก พื้นชั้นล่างคอนกรีต-ชั้นบนไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องไม้สัก การได้มาด้วยเงินงบประมาณ 562,500 บาท การใช้ประโยชน์เป็นที่พักและที่ทำการป่าไม้ (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ 947/2505) ปัจจุบันคงเหลือเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ เนื่องจากบางส่วนถูกแม่น้ำยมกัดเซาะพังลงไปในแม่น้ำ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้มีการแบ่งส่วนราชการของกรมป่าไม้ ออกเป็น 3 กรม ได้แก่

กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาคารหลังนี้จึงอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการใช้ประโยชน์เป็นบ้านพักรับรอง ต่อมาในปี พ.ศ.2559 จัดตั้งเป็นสวนรุกขชาติเชตวัน มีการใช้ประโยชน์อาคารเป็นศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ จนถึงปัจจุบัน        ในปี 2559 มีนายประพงษ์ อรรคสีวร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ได้มาทำหน้าที่หัวหน้าสวนรุกขชาติจากนั้นจึงได้สำรวจอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวันแล้วพบว่า มีสภาพอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม มีการผุกร่อนของระเบียง สีของไม้ฝ้าด้านนอกหลุดลอก มีการเอียงของเสาบ้านหลายแห่ง เสาถูกปลวกกิน ทำให้โครงสร้างตัวบ้านอาจจะพังลงมาได้ หัวหน้าสวนรุกขชาติได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้ไม้มาค้ำเสริมเสาและคานบางส่วนของบ้านไว้เป็นการชั่วคราว แต่หากไม่ดำเนินการซ่อมแซมอาคาร เกรงจะเป็นอันตรายกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้มาเยี่ยมชม จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังนี้

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอยืนยันกับประชาชนให้มั่นใจถึงการฟื้นฟูครั้งนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส การดำเนินการจะเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และพร้อมเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้อาคารประวัติศาสตร์คืนมาเป็นสมบัติของคนไทยสืบต่อไป

ขอบคุณภาพข่าว :กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เดชา  อุ่นขาว  ผู้ดูแลเว็บไซต์ข่าว”เดย์ไทม์นิวส์ออนไลน์”รายงาน

 

Related posts