#เดย์ไทม์นิวส์ออนไลน์
“อพท. เปิดตัวกิจกรรมยกระดับต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์“จับคู่สร้างสรรค์ สานฝันชุมชน” ณ ชุมชนทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พันเอก นาวิน ปรีชาพณิชยกุล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 และ นางประภัสสร วรรณธนะภูติหัวหน้างานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมทีมงาน อพท. ได้รับมอบหมายจาก นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เปิดตัวกิจกรรมยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์“จับคู่สร้างสรรค์ สานฝันชุมชน” ณ ชุมชนทุ่งหลวง จังหวัดสุโขทัย เพื่อยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ชุมชนทุ่งหลวง เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ (Learning Studio) นำไปสู่การถอดบทเรียนจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และขยายผลคู่มือในพื้นที่อื่น ๆ
อพท. ถือเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มและบุกเบิกการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 กว่า 11 ปี ที่ อพท. พัฒนายกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยาวนาน เกิดเป็นคู่มือ บทเรียน กรณีศึกษาที่หลากหลายบริบทในแต่ละพื้นที่เผยแพร่ให้แก่ภาคีเครือข่ายนำไปใช้ประโยชน์ และมีคณะทำงานการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism Brain Bank – CTBB) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำหลากหลายแขนงของประเทศมาขับเคลื่อนร่วมกัน โดยปัจจุบัน อพท. ได้พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กว่า 30 กิจกรรมในพื้นที่พิเศษและเขตพัฒนาการท่องเที่ยว และในปีนี้ชุมชนทุ่งหลวงได้ถูกคัดเลือกจาก 30 กิจกรรมให้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งแรกของ อพท. ในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ หรือ Learning Studio เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทั้งทุนวัฒนธรรม คนรุ่นใหม่ และเครือข่ายท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของกิจกรรมยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์“จับคู่สร้างสรรค์ สานฝันชุมชน” ณ ชุมชนทุ่งหลวง โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่าง ชุมชนทุ่งหลวง คณะทำงานการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (CTBB) และ อพท. ในรูปแบบ Community x CTBB x DASTA และเป็นการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานท่องเที่ยวในท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมสื่อสารแผนในครั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันและให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยผลลัพธ์ของกิจกรรมดังกล่าวคือ (1) ต้นแบบการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ (Learning Studio) (2) คู่มือแนวทางปฏิบัติการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และ (3) การเผยแพร่องค์ความรู้การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ ให้แก่ชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่อื่นๆในวงกว้าง พร้อมขับเคลื่อนยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นำไปสู่การการกระจายรายได้ ลดความเหลี่อมล้ำ การตระหนักถึงคุณค่าของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
เดชา อุ่นขาว ข่าว”เดย์ไทม์นิวส์ออนไลน์”รายงาน