วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช.จัดสัมมนา “ติดอาวุธให้ผู้เรียน ในยุค Digital Business 4.0” (ชมคลิป)

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช.จัดสัมมนา “ติดอาวุธให้ผู้เรียน ในยุค Digital Business 4.0”

 

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=lHbNG2hxu7A[/embedyt]

 

เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ”ติดอาวุธให้ผู้เรียน ในยุค Digital Business 4.0” พร้อมบรรยายพิเศษ“โดย มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีระ ฟ้าเฟื่องวิทยากุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล กล่าวรายงาน ณ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดสัมมนา“ติดอาวุธให้ผู้เรียน ในยุค Digital Business 4.0” เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริหาร ครูแนะแนว และผู้ที่สนใจ ในด้านการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล และรายละเอียดของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) ของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมไปถึงโครงการ Pre-College ที่เป็นการเรียนกระบวนวิชาลงเรียนล่วงหน้า และสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตเมื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ ตลอดจนเป็นการเชื่อมสัมพันธ์แนะแนวการศึกษาต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางวิชาการต่อไป

ตามที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อวิทยาลัยนานาชาติ เป็นวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 พร้อมทั้งได้ปรับเปลี่ยนพันธกิจจากเดิมให้มีการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี (หลักสูตรนานาชาติ) ในสาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกปัจจุบันและการแข่งขันในตลาดแรงงานในแผนยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0

โดยวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัลได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศต่างๆ ได้แก่ Curtin University ประเทศออสเตรเลีย, University of Electronic Science and Technology of China (UESTC) สาธารณรัฐประชาชนจีน, East China University of Science and Technology (ECUST) สาธารณรัฐประชาชนจีน และ University of Strathclyde สหราชอาณาจักร ในการจัดการศึกษาร่วมกันในระดับปริญญาตรี

รวมไปถึงการจัดโครงการ Pre-College, Advanced Placement ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และการใช้ภาษาอังกฤษ CEFR (Common European Framework Reference) และทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ให้สามารถนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างน้อย 15 นาที และสามารถเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษจำนวน 5 หน้า ภายในเวลา 3 ชั่วโมงได้ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนให้ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและการแข่งขันในตลาดแรงงานในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการสรรค์สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป

การสัมมนาวิชาการ “ติดอาวุธให้ผู้เรียน ในยุค Digital Business 4.0” ในวันนี้มุ่งเน้นให้บุคลากรหรือผู้รับผิดชอบด้านการสื่อสาร แนะแนวหลักสูตร จากโรงเรียนต่างๆ มีองค์ความรู้ด้านการจัดการศึกษายุคใหม่ในโลกดิจิทัล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ และสื่อสารกับนักเรียนให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล อันเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนให้สามารถแข่งขันในสังคมปัจจุบันได้อย่างรอบรู้และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล

หวังว่าการจัดสัมมนา “ติดอาวุธให้ผู้เรียน ในยุค Digital Business 4.0” ในวันนี้ จะเป็นเวทีที่ช่วยกระตุ้นให้บุคลากรทางการศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาภายใต้สภาพสังคม Digital Business 4.0 และการจัดการศึกษาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 ต่อไป

 

นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่

Related posts