#เดย์ไทม์นิวส์ออนไลน์#
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมวางแผนฟื้นฟูป่าภาคเหนือ ดีเดย์ ปลูกพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยสถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือตอนบน พบตัวเลขจุดความร้อนลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่หก โดยวันนี้จุดความร้อนในภาพรวม 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่พบน้อยกว่า 28 จุด จากการปฏิบัติงาน
ของเจ้าหน้าที่ สรรพกำลังทั้งจากภาครัฐ อาสาสมัครดับไฟป่าตลอดจนการสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า จากหลาย ๆ แห่งที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ทำให้แนวโน้นที่ดีขึ้นสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ พร้อมทั้งมาตรการในการจัดชุด
ดับไฟป่า 3,042 นาย ชุดเฝ้าระวังลาดตระเวน 4,254 นาย (รวม 7,296 นาย) ตลอด 24 ชั่วโมง ปฏิบัติการในการ
ดับไฟป่าทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 14 ลำ ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปยังจุดเกิดเหตุได้ และการทำงานร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่าในหมู่บ้านเสี่ยง 1,090 หมู่บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการปะทุไฟป่าขึ้นอีก นอกจากนี้ไม่พบ
จุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่วัดได้มีค่า 31-57 มคก./ลบ.ม. ซึ่งใกล้เคียงค่ามาตรฐานที่ 50 มคก./ลบ.ม. และมีแนวโน้มจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดจากการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ได้แล้ว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ในขณะนี้แนวโน้มสถานการณ์ไฟป่าลดลงเรื่อย ๆ จากการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ของเจ้าหน้าที่ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย
ต่อผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด จากการรายงานข้อมูลสถานการณ์ไฟป่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. การเฝ้าระวังและควบคุมไฟป่า
ส่งผลให้จุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ลดลงเหลือเพียง 49 จุด พบจุดที่มากสุดอยู่ที่จังหวัดน่านเพียง 27 จุด ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ทำกิน ประกอบกับเป็นช่วงที่สิ้นสุดห้วงเวลาของการห้ามเผา
ที่กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 เม.ย. และจุดความร้อน (hotspot) น้อยสุดอยู่ในจังหวัดเชียงรายพบเพียง 1 จุด นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดตาก พะเยา แพร่ และลำพูนไม่พบจุดความร้อนเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เห็นว่าการเข้าปฏิบัติการดับไฟ
มีประสิทธิภาพดีมากกว่า 70% ประกอบกับในช่วงนี้มีพายุฤดูร้อนทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ไฟป่าติดต่อกันทำให้ช่วยลด
ความรุนแรงและความร้อนสะสมของไฟป่าได้พอสมควร พร้อมกันนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่ป่าที่เกิดความเสียหายจากไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่า มีพื้นที่ป่าที่เสียหายจำนวน 55,266 ไร่ คิดเป็น 0.18 % ของพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (30,148,622 ไร่) ซึ่งพื้นที่ความเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 17,771 ไร่ และในส่วนของการดำเนินคดีมีเพิ่ม 50 คดี คดีสะสมอยู่ 963 คดี (ตั้งแต่ 30 มี.ค.-17 เม.ย. 63) มีผู้ต้องหาเพิ่ม 5 ราย ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ 4 ราย สะสมรวม 38 ราย
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูป่าจากความเสียหายที่เกิดขึ้น โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ให้เตรียมวางแผนสำหรับการฟื้นฟูสภาพป่าภาคเหนือ โดยเปิดให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน
ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูผืนป่า พร้อมทั้งได้มอบให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เตรียมแผนในการฟื้นฟูสภาพป่าภาคเหนือ สำหรับในส่วนของกรมป่าไม้ได้เตรียมแผนและมาตรการสำหรับฟื้นฟู
โดยการจัดเตรียมกล้าไม้สำหรับใช้ในการปลูกป่าจำนวนกว่า 10 ล้านกล้า เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นและเป็นพืชเศรษฐกิจ
เช่น ประดู่ป่า สัก พะยูง ตะแบก มะค่าโมง ยางนา ตะเคียนทอง อินทนิล มะขามป้อม หว้า ขนุน สะเดา ฯลฯ พร้อมทั้งมี
ข้อสั่งการให้สำนักส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการป่าชุมชน สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ทั่วประเทศ เตรียมหารือและวางแผนในการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าภาคเหนือ ประกอบกับในช่วงเดือน พฤษภาคม จะเป็นเดือนที่มีวันที่ตรงกับวันต้นไม้ประจำปีของชาติ จึงนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทุกคนจะได้พร้อมใจกัน
ในการร่วมกันปลูกต้นไม้ โดยได้กำหนดกิจกรรมจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ฟื้นฟูพื้นที่ป่า ในวันที่ 21 พฤษภาคม 63 พร้อมกันนอกจากนี้กรมป่าไม้ได้จัดเตรียมกล้าไม้เพื่อมอบใหกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ขอรับการสนับสนุนกล้าไม้ในการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนืออีกด้วย
#เดชา อุ่นขาว รายงานข่าว